ประกันสังคม เกษียณอายุ 55 ปีได้เท่าไร มีวิธีคำนวณเงินชราภาพอย่างไร มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อะไรบ้าง
ผู้ประกันตน มาตรา 33 (ม.33) ที่เกษียณอายุครบ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินกรณีชราภาพได้ โดยการรับเงินชราภาพแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
ผู้ประกันตนชำระเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงิน “บำเหน็จชราภาพ” รับเป็นเงินก้อนครั้งเดียว
ผู้ประกันตนชำระเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงิน “บำนาญชราภาพ” เป็นรายเดือนตลอดชีวิต
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีอายุเกิน 55 ปี ซึ่งยังคงมีนายจ้าง ที่ยังคงจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ประกันสังคม เกษียณอายุ 55 ปีได้เท่าไร
เงินชราภาพประกันสังคมที่ผู้ประกันตนจะได้รับมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการส่งเงินสมทบ โดยมีเงื่อนไขเงินชราภาพประกันสังคม พร้อมสูตรคำนวณแบบง่ายๆ ดังนี้
เงินบำเหน็จชราภาพ
จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตนที่จ่ายให้กับสำนักงานประกันสังคม
จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน จะจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบส่วนของผู้ประกันตนและส่วนของนายจ้างที่จ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และผลประโยชน์ตอบแทนประจำปี
กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตาย ภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ จำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่วัย
…
สูตรคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ
กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 1-11 เดือน = เงินสมทบของผู้ประกันตนฝ่ายเดียว
กรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12-179 เดือน = เงินสมทบของผู้ประกันตน+เงินสมทบของนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน
เงินบำนาญชราภาพ
จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนตลอดชีวิต คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ของเงินค่าจ้าง (ไม่เกิน 15,000 บาท) เฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญให้อีก 1.5 เปอร์เซ็นต์ ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน
สูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ
ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วย 20 เปอร์เซ็นต์ (บวกจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มให้อีกปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์)
เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย เงินชราภาพประกันสังคม
การรับเงินบำเหน็จ
ข้อดี ได้เงินก้อนใหญ่มาเลยทีเดียว เหมาะกับคนที่ต้องการใช้เงินก้อน
ข้อเสีย จะได้บำเหน็จน้อยกว่าบำนาญ และมีโอกาสที่จะใช้เงินหมดก่อน หากอายุยืนอาจไม่มีเงินเพียงพอใช้ในบั้นปลายชีวิต
การรับเงินบำนาญ
ข้อดี ได้เงินมากกว่าและมีเงินใช้รายเดือนไปจนเสียชีวิต
ข้อเสีย ไม่มีเงินก้อนสำหรับการลงทุนหากมีความต้องการ
ข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานประกันสังคม, กองทุนประกันสังคม, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)