ไปต่อไม่ไหว! 859 ชีวิตเคว้ง ตกงานรับปีใหม่ บริษัท เลิกจ้างกะทันหัน เบี้ยวจ่ายเงินชดเชย

ลูกจ้างบริษัทดัง ร้องรมว.แรงงาน ถูกเลิกจ้างกะทันหัน 859 ชีวิต ตกงานรับปีใหม่ หลังบริษัทไปต่อไม่ไหว มีปัญหาการเงิน เบี้ยวจ่ายค่าชดเชยงวดแรก

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67 ที่กระทรวงแรงงาน นายวีระศักดิ์ ลุพา ประธานสหภาพแรงงานยานภัณฑ์ นำลูกจ้างบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จำนวนราว 200 คน รวมตัวกันหน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เร่งรัดขอความช่วยเหลือและเจรจากับนายจ้างช่วยจ่ายเงินชดเชยตามสัญญา

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากบริษัทฯ ประกาศเลิกจ้างกะทันหันเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลประสบปัญหาทางการเงินและขาดเงินหมุนเวียน โดยให้มีผลการเลิกจ้างวันที่ 1 ธ.ค.67 ซึ่งนายจ้างให้สัญญากับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 859 คน ว่า จะจ่ายเงินชดเชยให้ตามกฎหมาย

โดยจะแบ่งจ่ายเป็นเงิน 3 งวด ได้แก่ งวดแรกจะจ่ายในวันที่ 20 ธ.ค.67 เป็นเงินร้อยละ 70 ของเงินชดเชย งวดที่ 2 จะจ่ายในวันที่ 27 ธ.ค.67 เป็นเงินร้อยละ 20 ของเงินชดเชย และงวดที่ 3 จะจ่ายในวันที่ 27 ม.ค.68 เป็นเงินร้อยละ 10 ของเงินชดเชย

“แต่นายจ้างผิดนัด ไม่จ่ายเงินชดเชยตามสัญญาในงวดแรกวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา จึงทำให้กลุ่มลูกจ้างเดือดร้อน เนื่องจากยังหางานใหม่ไม่ได้ และต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตด้วยมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่ากิน ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อน บ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเล่าเรียนลูกและอื่นๆ ตามมาอีกมาก และมีพนักงานบางส่วนต้องการย้ายกลับถิ่นฐานก็ต้อง รอค่าใช้จ่ายในการขนย้าย ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก“ นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้กลุ่มลูกจ้างจึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เจรจากับนายจ้าง เร่งติดตามนายจ้างให้จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับลูกจ้าง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร่งด่วน

นายพิพัฒน์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า กระทรวงแรงงานพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ และเป็นที่พึ่งพาของลูกจ้าง โดยจะเรียกผู้บริหารบริษัทยานภัณฑ์เข้ามาเจรจา พร้อมดำเนินการทุกอย่างตามกฎหมาย และขอให้แรงงานเขียนใบคำร้องเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งจะจ่ายให้กับลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นกลไกที่กระทรวงแรงงานมีไว้ช่วยเหลือ

“ขอให้แรงงานไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน ตามมาตรา 33 กับกองทุนประกันสังคม เพื่อรับเงินช่วยเหลือร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 180 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด และจะเร่งหางานให้กับลูกจ้างที่ตกงาน 859 คน โดยจับคู่กับบริษัทที่ต้องการแรงงานที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) จะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด” นายพิพัฒน์ กล่าว

ข่าวล่าสุด

ข่าวล่าสุด

Scroll to Top