อย่ารอช้า!! ประกันสังคม – บัตรทอง ตรวจสุขภาพฟรี 14 รายการ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน “Kick Off บูรณาการตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการ” ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ตลอดจนผู้บริหาร บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และนายอดิศักดิ์ ตั้งมิตรประชา ประธานบริษัท ดูโฮม จำกัด ร่วมงาน ณ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) ต.บางพูน อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สปส. และ สปสช. ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นอันดีเพื่อดูแลคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงานในสถานประกอบการให้ได้รับสิทธิบริการสาธารณสุขตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ครอบคลุมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ช่วยลดความซ้ำซ้อนของชุดบริการตรวจสุขภาพประจำปีของทั้ง 2 หน่วยงาน ทำให้การบริหารจัดการงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผู้ประกันตนจะได้รับบริการตรวจสุขภาพที่ครอบคลุมตามชุดสิทธิประโยชน์ทุกรายการตามที่ 2 หน่วยงานกำหนดไว้ และยังสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการเดียวกันได้

บริการตรวจสุขภาพฟรี ผู้ประกันตน-บัตรทอง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การรับบริการตรวจสุขภาพ ผู้ประกันตนต้องไปที่สถานพยาบาลช่วงเวลาทำการเท่านั้น ทำให้เป็นอุปสรรค ไม่สะดวก ต้องลาหรือหยุดงาน ดังนั้นการจัดบริการตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการจึงช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนได้มาก และในกรณีที่ผลการตรวจสุขภาพพบความผิดปกติ จะได้เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้ความร่วมมือ และที่ผ่านมาสถานพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปส. และ สปสช. พอเพียงที่จะให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว

พร้อมกันนี้ สปสช. อยู่ระหว่างประสานกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อบูรณาการสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในแนวทางเดียวกันนี้ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพฯ ภาพรวมระดับประเทศด้วย

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปส. ได้ทำการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการ การแพทย์ของ สปส. โดยเพิ่มสิทธิบริการตรวจสุขภาพให้กับผู้ประกันตน 14 รายการ อาทิ บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง FIT TEST บริการตรวจวัดความดันของเหลวภายในลูกตา รวมถึงบริการถ่ายภาพรังสีทรวงอก พร้อมปรับจำนวนการรับบริการให้เหมาะสมกับช่วงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงทางสุขภาพให้กับผู้ประกันตนเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี อันนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล ลดอัตราการลางาน ลดอัตรารวมถึงการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือเสียชีวิตให้กับผู้ประกันตน

“สุขภาพของแรงงานในสถานประกอบการ เป็นสิ่งสำคัญการ Kick Off ที่ บริษัท ดูโฮม ที่มีจำนวนพนักงานกว่า 500 คน นับเป็นความร่วมมือที่ดี เพื่อร่วมผลักดันให้เกิดบริการเชิงรุกดูแลสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ภายใต้สิทธิประโยชน์ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ” รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าว

นายบุญสงค์ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ สปส. คือ การดูแลสุขภาพให้กับแรงงาน การให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์ของ สปส. และ สปสช. ในสถานประกอบการนั้น ปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 213 แห่ง เป็นสถานพยาบาลรัฐ 165 แห่ง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมได้ (www.Sso.go.th) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.จเด็จ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2566 สปส. และ สปสช. ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือการบูรณาการจัดระบบบริการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกันตนมุ่งเน้นการป้องกันสุขภาพที่ถาวรมากกว่าการรักษา ลดค่าใช้จ่ายภาพรวมด้านสาธารณสุขไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการหน่วยบริการ จากเดิมที่เคยขึ้นทะเบียนแยกกันของทั้งสองหน่วยงานให้เป็นหน่วยบริการภายใต้ระบบเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการในหน่วยบริการเพียงแห่งเดียว แต่ได้รับบริการที่ครอบคลุมตามรายการสิทธิประโยชน์ทุกรายการที่ 2 หน่วยงานกำหนด

วันนี้เป็นการตรวจเยี่ยมการบูรณาการตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการตามความร่วมมือข้างต้นนี้ กำหนดให้เริ่มในวันที่ 1 เม.ย.67 นี้เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเชื่อมโยงระบบข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Digital Platform ธนาคารกรุงไทย เพื่อสนับสนุนระบบบริการทางการแพทย์ให้แก่หน่วยบริการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชน โดยที่บริการเชิงรุกที่ บริษัท ดูโฮม ในวันนี้ เป็นการจัดบริการโดยโรงพยาบาลปทุมธานี

“การบูรณาการนี้ทำให้เกิดความชัดเจนในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งผู้ประกันตนก็คือ คนไทยสิทธิพื้นฐานในระบบบัตรทองมีอะไรก็จะได้รับบริการด้วย ซึ่งบริการสร้างเสริมสุขภาพฯ ในระบบบัตรทองมี 24 รายการ และส่วนของประกันสังคมมีเพิ่มเติมอีก 14 รายการ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25-26 มีนาคม 2567 สปสช.ได้ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงแนวทางการจัดบริการและการขอรับค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ให้แก่สถานพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับ สปสช. เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 เมษายน 2567 นี้เป็นต้นไป

โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกันในการบูรณาการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตน ภายใต้ชุดบริการ การตรวจสุขภาพประจำปี ที่ สปส.กำหนด จำนวน 14 รายการ และชุดบริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคตามรายการบริการ (Fee Schedule) ที่สปสช. กำหนดจำแนกตามกลุ่มอายุ จำนวน 24 หมวดรายการ

นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการหน่วยบริการจากที่เคยขึ้นทะเบียนแยกกันของทั้งสองหน่วยงาน ให้เป็นหน่วยบริการภายใต้ระบบเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนให้สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการเพียงแห่งเดียวแต่ได้รับบริการครอบคลุมตามรายสิทธิประโยชน์ทุกรายการที่ทั้งสองหน่วยงานกำหนด โดยไม่ต้องเดินทางไปขอรับบริการหน่วยบริการหลายแห่งเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป

“ที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงานก็ได้ให้สิทธิในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยในชุดบริการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันตนอยู่แล้ว 14 รายการนั้นมีบางรายการที่มีส่วนที่ซ้ำซ้อนกัน วันนี้ได้ชี้แจงให้โรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว ให้ทราบว่า การให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันแล้ว 14 รายการภายใต้ระบบใหม่จะมีการรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น” ทพ.อรรถพร กล่าว

หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับทั้งสองหน่วยงานแล้ว สามารถให้บริการตรวจสุขภาพประจำปี จำนวน 14 รายการ โดยเบิกชดเชยค่าบริการผ่านระบบ KTB นอกเหนือจากนั้นยังสามารถให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคจากโปรแกรมอื่นๆ ตามที่ สปสช. กำหนด หรือใช้โปรแกรม KTB ก็ได้

จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลแล้ว สปสช. จะทำการประมวลผล และตรวจสอบความถูกต้องก่อนการเบิกจ่าย และดำเนินการตัดข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย และออกรายงานให้แก่หน่วยบริการทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือนของทุกเดือน ในขณะเดียวกันข้อมูลรายการใดที่ สปส. รับผิดชอบก็จะตัดข้อมูลส่งให้ สปส. เพื่อดำเนินการเบิกจ่ายโดยจะมีการกำหนดรอบโอนเงินให้ตรง หรือใกล้เคียงกันกับ สปสช.ต่อไป

ขั้นตอนการใช้งานผู้ประกันตน บัตรทอง ทุกสิทธิการรักษา
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการใช้งานนั้น ผู้ประกันตน ผู้มีสิทธิบัตรทอง และประชาชนคนไทยทุกสิทธิการรักษา สามารถเข้ารับได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของ สปสช. และ สปส. โดยจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อน และหลังเข้ารับบริการ สำหรับผู้ประกันตนคนไทยสามารถใช้บัตรประชาชน หรือคิวอาร์โค้ด (QR Code) จาก Health ID ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อยืนยันตัวตนกับหน่วยบริการ ส่วนผู้ประกันตนต่างด้าวต้องใช้เอกสารที่ สปส. กำหนด คือเลขผู้ประกันตน 13 หลัก และเลขพาสปอร์ต หรือ Work Permit

อย่างไรก็ดี ภายในแอปเป๋าตัง จะมีส่วนที่เป็นกระเป๋าสุขภาพที่จะมีการระบุสิทธิประโยชน์ที่สามารถใช้บริการได้ ซึ่งส่วนนี้ทางธนาคารกรุงไทย และ สปสช. ได้ร่วมกันพัฒนามาประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารถตรวจสอบสิทธิของตัวเอง ดูประวัติ ผลคัดกรองในบางรายการ รวมถึงการแจ้งเตือนการนัดหมายได้ และจะมีการเพิ่มข้อมูลบริการจาก สปส. เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของหน่วยบริการที่เข้าร่วม ภายใต้ Krungthai Digital Health Platform นั้น จะมีระบบอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยบริการ สามารถใช้ตรวจสอบสิทธิ ยืนยันตัวตนผู้รับบริการ ตรวจสอบเงื่อนไขในแต่ละกิจกรรม บันทึกข้อมูลตลอดจนส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย

โดยประเด็นสำคัญคือ หน่วยบริการจำเป็นต้องมีการจัดการระบบ Hospital Portal เพื่อเตรียมข้อมูลที่จะแสดงให้ประชาชนทราบก่อนเลือกเข้ารับบริการ เช่น เวลาเปิดทำการ เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

ตรวจสุขภาพ 14 รายการตามช่วงอายุ
สำหรับผู้ประกันตนคนไทยและต่างด้าว ในมาตรา 33 และ 39 ได้แก่

1.การคัดกรองการได้ยิน อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข และสอนการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง อายุ 30-39 ปี ตรวจทุก 2 ปี อายุ 40 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

3.การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ คัดกรองความผิดปกติ ค้นหาโรคทางสายตา การตรวจ Snellen eye Chart และการวัดความดันของเหลวในลูกตา อายุ 40-54 ปี ตรวจทุก 2 ปี อายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

4.ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC อายุ 15-34 ปี ตรวจ 1 ครั้ง อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

5.ตรวจปัสสาวะ UA อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

6.น้ำตาลในเลือด Fasting Blood Sugar อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

7.การทำงานของไต Cr และ eGFR อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

8.ไขมันในเลือดชนิด Total cholesterol & HDL cholesterol อายุ 20-34 ปี ตรวจทุก 5 ปี อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

9.ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ HbsAg สำหรับผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ.2535 ตรวจ 1 ครั้ง

10.มะเร็งปากมดลูก Pap Smear อายุ 30 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 3 ปี

11.มะเร็งปากมดลูก Via อายุ 30-55 ปี ตรวจทุก 5 ปี โดยอายุ 55 ปีขึ้นไป ควรใช้วิธีตรวจด้วย Pap Smear เท่านั้น

12.มะเร็งปากมดลูก HPV DNA TEST ชนิด 2 สายพันธุ์และ 14 สายพันธุ์ อายุ 30 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี

13.ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง FIT TEST อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจ 1 ครั้งต่อปี

14.การถ่ายภาพรังสีทรวงอก Chest X-ray อายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 3 ปี

ข่าวล่าสุด

ข่าวล่าสุด

Scroll to Top