คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม ทุกครัวเรือนได้เท่ากัน 9,000 บาท จากเดิมกรอบวงเงินอยู่ที่ 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท เตรียมเข้าที่ประชุมอีกครั้ง 8 ต.ค.นี้
เมื่อเวลาประมาณ 12.15 น. ของวันนี้ (1 ตุลาคม 2567) ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุด ว่า ที่ประชุมได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้า รายงานสถานการณ์ล่าสุดในที่ประชุม ครม. เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบและประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ในช่วงตอนหนึ่ง หลังจากสื่อได้สอบถามถึง ความพร้อมของเมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม รอบ 2 ทางนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ศปช. ศึกษารายละเอียด และในวันนี้กระทรวงมหาดไทยได้เสนองบเรื่องการเยียวยาที่มีกรอบวงเงิน 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาท โดยได้ข้อสรุปว่า ทุกครัวเรือนได้ 9,000 บาททั้งหมด เพราะทราบดีว่าเป็นสถานการณ์ที่หนักหน่วง
สำหรับรายละเอียดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ในวันที่ 8 ตุลาคมนี้
พร้อมทั้งเปิดเผยด้วยว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินงานของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Gsb Boost Up ของธนาคารออมสิน จำนวน 50,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SME กลุ่มรายย่อย อาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้
นอกจากนั้น ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือพักหนี้อัตโนมัติ พักจ่ายเงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ยเป็นยระยะเวลา 3 เดือน ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2567 ให้กับสินเชื่อ SME ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท และสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท รวมถึงสินเชื่อพัฒนากลุ่มอาชีพและสินเชื่อสวัสดิการซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระลูกหนี้ธนาคารออมสินในพื้นที่ประสบภัยตามประกาศ จำนวนกว่า 110,000 บัญชี คิดเป็นเงินต้นรวมกว่า 43,000 ล้านบาท