ขึ้นค่าแรง 400 บาท ล่มไม่เป็นท่า เลื่อนประชุมบอร์ดสองเที่ยวซ้อน ๆ ปลัดแรงงานสารภาพคงไม่ทัน 1 ตุลาคม 67 เสนอเลื่อนไปปีหน้า แพทองธาร นายกรัฐมนตรีย้ำไม่มีเตะถ่วง
ถึงตอนนี้ความคืบหน้านโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำด้วยการปรับขึ้นเป็น 400 บาทนั้น ส่อแววยืดเยื้อหนักโดยล่าสุดผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุเกิดการสะดุดและขับเคลื่อนต่อไม่ได้ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีล่มถึง 2 ครั้ง ซึ่งเดิมมีประชุม 20 ก.ย. และวันที่ 24 ก.ย. แต่ต้องต้องยกเลิกพร้อมกัเบเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด สาเหตุจาก นายเมธี สุภาพงษ์ ตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เป็นตัวแทนแล้ว เนื่องจากเกษียณอายุงานตั้งแต่ปี 2566 ระหว่างนี้จึงต้องรอ ธปท. ส่งหนังสือแจงเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมส่งผู้แทนเพื่อแต่งตั้งใหม่ผ่านมติที่ประชุมในครม.
จากความคาราคาซังซึ่งไม่มทีท่าจะหาข้อสรุปร่วมกันได้โดยง่าย ล่าสุด ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงานยอมรับการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บ. เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน ถ้าไม่อยู่ในห้องประชุมจะมีทางทราบถึงการพิจารณาแต่ละประเด็น ฝ่ายนายจ้างมีมุมมองหนึ่ง นายจ้างทุกคนมีเหตุผลและแต่ละคนก็มีมุมมองของตัวเอง ส่วนลูกจ้างก็มีเหตุผล ดังนั้นภาครัฐต้องเป็นคนประสานเอามิติความคิดทั้งสองฝ่าย รวมถึงฝ่ายราชการมารวมในรูปแบบว่าจะขึ้นเท่าไหร่
ปลัดแรงงานยังมองกรณีนายเมธีลาออกภายในสัปดาห์นี้และสามารถหาคนแทนได้ และเรื่องถูกเสนอเข้า ครม. ก็อาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทัน แต่ล่าช้าสัก 1-2 สัปดาห์
อ้างอิงข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ ด้านของนายไพโรจน์มีกำหนดเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.67 นี้ ดังนั้นจึงต้องเป็นปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ทำหน้าเป็นประธานการประชุมบอร์ดค่าจ้าง แต่คงไม่สามารถประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.2567
อัปเดตล่าสุด เมื่อเวลา 12.10 น. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมครม. ถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่ล่าช้าออกไปว่านโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการขึ้นค่าแรง แต่ต้องอาศัยไตรภาคี ว่าจะให้ความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งมีการพยายามนัดหมายกันเพื่อเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด และพยายามจะพูดคุยกัน พร้อมยืนยันที่จะเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท และจะคอยผลักดันเรื่องนี้
กรณีถามว่าไม่ได้มีการเตะถ่วงอะไรในฝั่งผู้ประกอบการใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าต้องคุยกันก่อนทั้งหมดไม่ได้เตะถ่วงอะไร และทั้ง 3 ภาคส่วนก็ต้องพูดคุยกันในรายละเอียด และทุกอย่างต้องกฎหมาย ส่วนได้มีการวางกรอบว่าจะดำเนินการได้เมื่อไรนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะทำให้เร็วที่สุดและต้องดูว่าติดอะไรบ้าง ส่วนจะดำเนินการได้ภายในปีนี้หรือไม่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่านั่นคือความตั้งใจว่าเป็นปีนี้
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปจุดเริ่มเรื่องของนโยาบปรับขึ้นค่าแรงนั้น กระทรวงแรงงานได้นำประเด็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ เข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี เพื่อศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ว่ากิจการใดมีความพร้อมหรือยังไม่พร้อม ถ้าหากยังไม่พร้อมต้องทำอย่างไรให้พร้อมซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 5 – 6 เดือน ในการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการประเภท SME ที่เป็นผู้ถือครองจำนวนแรงงานมากที่สุด
การประชุมบอร์ดค่าจ้างมีรายละเอียดตามข้อกำหนดว่า ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย รัฐบาล ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวมเป็นทั้งหมด 15 รายชื่อซึ่งภาครัฐประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน 2 คน และหน่วยงานภายนอก อีก 3 คน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ฯ และแบงก์ชาติ ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 จึงจะสามารถลงมติได้.