เช็กด่วน 5 กลุ่ม พลาดสิทธิ์รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท วันที่ 25 ก.ย. นี้ ผู้พิการเร่งทำบัตรและต่ออายุบัตรคนพิการก่อน 3 ธ.ค. หรือรอลงทะเบียนรอบกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน เดือน ต.ค.
หลังจากที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและสร้างสังคมเงินดิจิทัลในอนาคต โดยมีการประกาศเงื่อนไขผู้ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะได้รับเงินรอบแรกในวันที่ 25 – 30 ก.ย. 67 ผ่านบัญชีพร้อมเพย์เพย์ที่ผูกกับธนาคารใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีใหม่ แบ่งจ่ายเงินออกเป็น 4 วัน ตามลำดับเลขท้ายบัตรประชาชน
อย่างไรก็ตาม มีบุคคลกลุ่มหนึ่งจะหลุดจากการได้รับสิทธิ์ในโครงการ เนื่องจากคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์หรือไม่ได้ทำตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ ประกอบด้วยคนที่มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
4 กลุ่มถูกตัดสิทธิ์ ไม่ได้เงินดิจิทัล
บุคคล 4 กลุ่มที่จะหลุดจากการได้รับสิทธิ์ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ประกอบด้วยคนที่มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มที่มีรายได้สูง
คือผู้ที่มีรายได้มากกว่า 840,000 บาทต่อปี หากประกอบอาชีพค้าขาย ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. กลุ่มที่มีเงินฝากในธนาคารสูง
คือผู้ที่มีเงินฝากทุกบัญชีธนาคารของรัฐรวมกันเกิน 500,000 บาท ตั้งแต่ วันที่ 31 มีนาคม 2567
3. กลุ่มที่เคยกระทำผิดเงื่อนไขโครงการของรัฐบาล
คือผู้ที่เคยทำผิดเงื่อนไขโครงการของรัฐบาลในอดีต โดยตัดสิทธิ์ทั้งประชาชนและร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมนโยบาย
4. กลุ่มบุคคลที่เคยถูกดำเนินคดี
คือผู้ที่เคยถูกฟ้องร้องเรียกเงินคืนในอดีต โดยตัดสิทธิ์ทั้งประชาชนและร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมนโยบาย
ผู้สูงอายุที่ไม่มีบัตรคนจน และบัตรคนพิการ
ก่อนหน้านี้ กรมประชาสัมพันธ์ ได้ออกมาแจงว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเป็นผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นผู้พิการต้องมีบัตรผู้พิการ จึงจะถือเป็นกลุ่มเปราะบาง ได้รับเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 25 – 30 ก.ย. นี้ หากเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ใช่ผู้พิการจะไม่ได้รับสิทธิในโครงการ ทั้งนี้ ผู้พิการที่ต้องการลงทะเบียน ต้องเตรียมเอกสาร และสมัครตามสถานที่ ก่อนวันที่ 3 ธ.ค. 67
เอกสารประกอบการสมัคร
1. เอกสารหลักฐานของผู้พิการเอกสารประจําตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
บัตรประจําตัวประชาชน
บัตรประจําตัวข้าราชการ
สูติบัตรสําหรับบุคคลอายุต่ำกว่า15 ปี
2. หนังสือรับรองการเกิดตามแบบที่กรมการปกครองกําหนด
3. ทะเบียนบ้าน
4. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป ในกรณีที่คนพิการไม่ได้มายื่นคำขอด้วยตนเอง
5. เอกสารรับรองความพิการ ซึ่งรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาลของรัฐ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่อธิบดีประกาศกําหนด
6. สภาพความพิการเป็นที่เห็นได้ เจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอถ่ายสภาพความพิการไว้เป็นหลักฐาน
สำหรับผู้ดูแลคนพิการต้องเป็นผู้ซี่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกัน หรือเป็นผู้ดูแลคนพิการซี่งคนพิการอาศัยอยู่ด้วยตามความเป็นจริง โดยต้องเตรียมเอกสารยืนยันตัวตน ได้แก่ บัตรประชาชนของผู้ดูแลคนพิการ และทะเบียนบ้านของผู้ดูแลคนพิการ
ขั้นตอนการทำบัตรคนพิการ
1. ยื่นคำร้อง
2. ตรวจสอบหลักฐานและข้อเท็จจริง
3. ถ่ายรูป
4. ตรวจสอบความถูกต้อง
5. จากนั้นได้รับบัตรประจำตัวผู้พิการ
สถานที่ให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ
1. พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร
1.1 ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร ณ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
1.2 โรงพยาบาลสิรินธร
1.3 โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
1.4 สถาบันราชานุกูล
1.5 โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
1.6 โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)
1.7 ศูนย์บริการคนพิการสายไหม เคหะเอื้ออาทรสายไหม
1.8 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก)
2. ส่วนภูมิภาค ศูนย์บริการคนพิการทุกจังหวัด และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด โทร 1300
ทั้งนี้ ผู้พิการสามารถไปดำเนินการได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อขึ้นทะเบียนออกบัตรประจำตัวคนพิการได้เป็นบริการครบที่จุดเดียว สำหรับบางจังหวัดที่ยังดำเนินการไม่ได้ สามารถไปขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่กระทรวง พม.
พลาดรับเงินรอบแรก มีสิทธิ์ได้รับเงินอีกไหม
ผู้ที่พลาดรับสิทธิเงินดิจิทัลในรอบแรก และไม่ได้ลงทะเบียนในแอปฯ ทางรัฐ ในกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน ต้องรอลงทะเบียนในกลุ่มของผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งจะใช้บัตรประชาชนในการลงทะเบียน ณ ขณะนี้ รัฐบาลประกาศเลื่อนลงทะเบียนจากไทม์ไลน์เดิมคือวันที่ 16 ก.ย. – 15 ต.ค. 67 ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนรอประกาศอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์คาดว่าจะมีการประกาศลงทะเบียนอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมนี้