นายกฯ ถก คกก.อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม นัดแรก สั่งทบทวนการเยียวยา บอก เตรียมพร้อมพื้นที่อีสานล่างรับสถานการณ์น้ำ ไม่เก็บค่าน้ำ-ค่าไฟเดือน ก.ย. พื้นที่ประสบภัย เตรียมเคาะงบกลาง 3,000 ล้าน เข้า ครม.พรุ่งนี้
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 กันยายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ครั้งที่ 1/2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมด้วย ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รวมไปถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมตอนหนึ่งว่า วันนี้เรียกประชุมด่วนจากที่ได้ลงพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงรับฟังการรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ต้องขอขอบคุณชาวเชียงราย ที่แม้จะเจออุปสรรคอย่างหนักหน่วงแต่ยังมีรอยยิ้มส่งให้กับผู้ที่ทำงาน รวมถึงรัฐบาล ขอให้กำลังใจ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย หน่วยงานความมั่นคง รวมถึงจิตอาสาที่เข้าไปช่วยประชาชนโดยไม่ต้องร้องขอ ขณะนี้มีพื้นที่พักพิงชั่วคราว อาหารและน้ำดื่มอย่างครบถ้วน ส่วนมาตรการเยียวยาก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ขอเน้นย้ำตรงนี้ อยากให้เป็นไปอย่างเร่งด่วนและตรงกับจุด เพราะหลายอย่างถูกตีกรอบการเยียวยา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงมากกว่านั้นมาก และยังมีวาระการพูดถึงจำนวนวันที่เสียหาย อยากให้พิจารณาตรงนี้ อย่างที่ อ.แม่สาย มีอุทกภัย 3 วัน ซึ่งดูน้อยแต่ความเสียหายมากกว่านั้น ฉะนั้น ถ้าเราตัดสินกันที่จำนวนวันจะไม่พอดีกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอันหนักหน่วงตรงนี้ ฉะนั้น เรื่องของกรอบตรงนี้จะต้องมีการพิจารณาเพิ่ม และอยากให้นำเรื่องกระแสน้ำที่เป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้นำมาสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัดที่เกิดน้ำท่วม ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดที่ อ.แม่สาย ปริมาณน้ำลดลง 30-40 เซนติเมตร ที่ จ.หนองคาย ก็ลดลง 20-50 เซนติเมตร ตรงนี้โชคดีที่ไม่มีดินโคลนถล่ม แต่ปัญหาน้ำท่วมก็ต้องซักซ้อมเรื่องการแจ้งเตือนภัย จะต้องกำหนดกรอบงบประมาณเกี่ยวกับระบบ Cell Broadcast Service (CBS) หรือระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ให้การเตือนภัยมีผลดียิ่งขึ้น ส่วนการตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ซึ่งมีนายภูมิธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ จะทำงานร่วมกับ นายอนุทิน นายสุริยะ และนายประเสริฐ เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม รวมถึงจะต้องมีการวางกรอบการทำงาน เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที ต่อมาเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถประสานงานกันได้ว่าตรงไหนเจอปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้การแก้ปัญหารวดเร็วชัดเจน เมื่อถามว่า คณะกรรมการที่ตั้งมานี้เป็นชั่วคราวหรือเป็นคณะกรรมการถาวร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราตั้งไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานว่าน้ำเริ่มมาทางภาคอีสาน และปริมาณน้ำเริ่มลดลง จังหวัดไหนที่น้ำจะเข้าไปได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมสำหรับการแจ้งเตือนประชาชน ให้สามารถอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันเวลา ซึ่งเราแจ้งล่วงหน้าไปแล้วหลายวัน โดยจังหวัดที่น้ำท่วมไปแล้วประมาณ 3 วัน ทุกอย่างน่าจะจบลง ส่วนการฟื้นฟูเราพยายามทำให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด ผู้สื่อข่าวถามต่อ การที่น้ำลดลงเกี่ยวข้องกับกรณีประเทศจีนยังไม่ปล่อยน้ำมาทางแม่น้ำโขงเพิ่มใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีตอบว่า “จีนปล่อยน้ำปกติ ไม่ได้มีส่วนทำให้น้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น” เมื่อถามอีกว่าได้เตรียมความพร้อมในพื้นที่อีสานตอนล่างที่ต้องรับมวลน้ำหลังจากนี้ไว้อย่างไร น.ส.แพทองธาร ระบุว่า เราแจ้งไปหมดแล้วว่าน้ำจะมาปริมาณเท่าไหร่ และที่ประชุมได้พูดคุยกันว่าปีนี้น้ำไม่ได้จะหนักมากแต่ก็มีน้ำผ่าน ซึ่งทางกองทัพภาคที่ 2 ได้เข้าไปเตรียมพร้อมในพื้นที่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง “ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร ความสามารถรับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีมากพอ กรุงเทพฯ น้ำก็จะไม่ท่วม” เมื่อถามถึงกรณีที่ระบุว่าการเยียวยาให้ยึดความเสียหายมากกว่าจำนวนวัน ต้องปรับมาตรการอย่างไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องกรอบการเยียวยาเราต้องมาดูที่รายละเอียดข้างในว่าจะปรับได้อย่างไรบ้าง แต่ประเด็นตอนนี้คือความรวดเร็วในการเยียวยา ที่ประชุมหลายฝ่ายถกกันว่าความรวดเร็วต้องมาก่อน โดยจะยึดกรอบเดิมก่อน เพราะถ้าเป็นกรอบใหม่ก็ต้องใช้เวลา “ในที่ประชุมมีความเห็นว่าจะไม่เก็บค่าน้ำค่าไฟพื้นที่ประสบภัยในเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม จะลดลง 30% แต่หากเหตุการณ์น้ำท่วมยาวกว่านั้นเราสามารถขยายได้อีก มาตรการที่ออกมานี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการเยียวยาที่เร่งด่วน” สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนได้พูดคุยกับกองทัพ ซึ่งระดมกำลังอย่างเต็มที่แต่ติดปัญหากำลังพลไม่เพียงพอ ก็จะให้กระทรวงศึกษาธิการดูเรื่องทีม Fix it Center อาชีวะจิตอาสา ที่มีหลายจังหวัด ให้ระดมพลมาช่วยกัน เพื่อให้ความเสียหายได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด เมื่อถามต่อไปว่าเรื่องการเยียวยาจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 กันยายน 2567 หรือไม่ น.ส.แพทองธาร ตอบว่า งบส่วนนี้ไม่ต้องเข้าที่ประชุม ครม. เพราะเราใช้มาตรการเดิม ส่วนที่จะเพิ่มก็ต้องดูว่าจะเพิ่มตรงไหนได้บ้าง เช่นที่ตนยกตัวอย่างเวลา 3 วัน แต่มีความเสียหายมากกว่านั้น ต้องดูว่าจะปรับอะไรได้บ้าง ส่วนคำถามว่าขณะนี้กรอบเยียวยาอยู่ที่เท่าไหร่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า กรอบเยียวยากรณีบ้านเสียหายทั้งหลังยังคงยึดกรอบเดิมคือ 230,000 บาท แต่จะมีการเยียวยาหลายหมวด และมีงบกลางที่เราสำรองไว้สำหรับเรื่องน้ำท่วมโดยเฉพาะแล้ว เมื่อถามต่อไป การเยียวยากรณีมีผู้เสียชีวิตจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า อันนั้นต่างหาก เดี๋ยวต้องไปดูกรอบอีกที ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังประชุม น.ส.แพทองธาร ได้รับฟังข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน จึงมีความเห็นจะอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเยียวยาน้ำท่วม จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบวันพรุ่งนี้