นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกระแสข่าว ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญลงมติถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมาว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถูกทบทวนและอาจจะไม่เดินหน้าต่อนั้น
ทั้งนี้ จากกระแสดังกล่าว ต้องยอมรับว่าถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สามารถทำได้แต่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนแล้ว ถ้ากรณีที่มีข่าวว่า เมื่อเปลี่ยนจากนายเศรษฐา มาเป็นท่านอื่น และแม้จะเป็นพรรคเพื่อไทยก็มีโอกาสที่จะไม่ทำต่อ เพราะยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายซึ่งได้เห็นผลว่าเป็นหนึ่งในบทเรียนของพรรค โดยที่ผ่านมาตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย มาจนถึงพรรคเพื่อไทย ล้วนต้องเผชิญกับคดีด้านกฎหมายทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ในเชิงนโยบาย มองว่า หากเป็นพรรคเดิมที่มาเป็นผู้นำ อย่างน้อยยังเชื่อว่านโยบายหลายอย่างยังคงจะต่อเนื่องในหลายโครงการ แต่แน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่ทุกโครงการ เพราะจากเวลาหนึ่งสู่เวลาหนึ่ง และจากเงื่อนไขหนึ่งสู่เงื่อนไขหนึ่ง บางโครงการที่อาจจะมีความเสี่ยงหรือล่อแหลมต่อเรื่องของการผิดกฎหมาย หรืออาจเสี่ยงถูกฟ้องร้องและนำไปสู่การถูกดำเนินคดีต่างๆ ก็อาจจะต้องทบทวน
นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า จากคดีทางการเมืองต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทย ได้เห็นชัดล่าสุด คือ คดีของนายเศรษฐา การใช้กฎหมายต่าง ๆ ถือเป็นจุดอ่อนทำให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกทั้ง จากประสบการณ์ของพรรคตั้งแต่ต้นจนล่าสุดคงจะต้องพยายามเลี่ยงอะไรที่มีความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพราะที่ผ่านมานายกฯ ของกลุ่มเพื่อไทยถูกฟ้องในคดีต่าง ๆ จนต้องหลุดจากเก้าอี้ ถือเป็นการสุ่มเสี่ยง ซึ่งนายชัยเกษม จึงระมัดระวังด้านกฎหมายเป็นพิเศษ
“หากรัฐบาลจะไม่เดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะต้องเยียวยาจิตใจประชาชนที่ลงทะเบียนไปแล้ว ซึ่งในช่วงการปรับตำแหน่งถือเป็นจังหวะที่คนพอรับได้และก็ทำได้ แต่ก็ต้องบริหารจัดการในเรื่องของความรู้สึก คาดหวังของคนที่รอรับเงินหลาย 10 ล้านคนที่ได้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐไปแล้ว และจะต้องมีคำอธิบายที่ดี” นายเกรียงไกร กล่าว