ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร! ปชช.เข้าใจหากไม่ได้เงินหมื่น เหตุ รบ.ไม่ชัดเจน
ชัดเจนแล้ว คนไม่มีสมาร์ตโฟนจะให้ลงทะเบียนรับเงินหมื่น ในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางสัปดาห์นี้ ส่วนคนทั่วไปที่ลงทะเบียนไว้ บางคนมีคำถามว่า จะได้เมื่อไหร่ หรือจะได้แบบไหน
วันนี้ (22 ก.ย.2567) ส่วนหนึ่งเพราะตอนนี้มีข้อเสนอ ให้ปรับเงินงบประมาณ ที่เหลืออีกกว่า 300,000 ล้านบาท เป็นนโยบาย เหมือนโครงการคนละครึ่งดีหรือไม่ ? ฟังแบบนี้คนที่ลงทะเบียนไว้หลายคนก็เริ่มถอดใจ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร โดย พิญทิพย์ เอ่งฉ้วน แม่ค้าขายไก่ทอด จ.กระบี่ บอกกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า
ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ได้เงินมาเราก็ต้องมาซื้อของในห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว คนที่รวยก็เจ้าของห้าง คนที่ได้เขาก็ไม่ได้มาซื้อกับเรา
สอดคล้องกับ ณัฐพัช แดงบาง ลูกจ้างใน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ที่บอกว่า สำหรับตัวเธอเอง จะแจกเป็นเงินอะไรก็ได้ เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้หรือไม่ได้ จะได้อันไหนก็โอเค ถือว่าได้ทั้ง 2 ทาง
หลังรัฐบาลประกาศเลื่อน การเปลี่ยนรูปแบบ จนมาถึงวันนี้ บางคนก็มองว่าได้หรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร บางคนบอกว่าแบบไหนก็รับได้ เพราะถือว่าเป็นเงินที่ได้มาฟรี ๆ ช่วยค่าครองชีพได้
“ธนกร” ชี้ ปชช.เรียกร้องแปลงแจกเงินหมื่นเป็น “คนละครึ่ง”
หลังจากจ่ายให้กลุ่มเปราะบางไปแล้ว เงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเหลืออีก 330,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการ รวมทั้ง นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่สะท้อนเสียงหลังจากลงพื้นที่จังหวัดในภาคใต้ มีประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาล มีการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี โดยการรื้อฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง ที่ประสบความสำเร็จ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในมุมมองนักวิชาการมองว่า ถ้าจะรัฐบาลจะแจกเป็นเงินดิจิทัลอาจต้องดูรายละเอียด เพราะหากให้ร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่เข้าระบบได้ ก็มีความเป็นไปได้ ว่าคนจะเทเงินให้รายใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการเล็ก ๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าจะการฟื้นโครงการคนละครึ่งอาจเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่รัฐบาลอาจตั้งเพดานขั้นต่ำ เพื่อให้ประชาชนได้นำเงินออกมาจับจ่ายมากขึ้น
SMEs ไม่ขัดคนละครึ่ง-เงินดิจิทัล ขอประโยชน์รอบด้าน
ด้าน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองว่าการแจกเงินสด 10,000 บาท รัฐไม่สามารถควบคุมเป้าหมายการใช้เงินได้ ทำให้กลุ่ม SMEs ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร
หากรัฐบาลจะใช้โครงการ “คนละครึ่ง” มาแทน ก็ดีกว่า แต่อยากให้เพิ่มกำหนดเป้าหมาย เช่น กลุ่มแรงงานที่ต้องการการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าฝึกทักษะ ประเทศก็จะได้ประโยชน์ทั้งได้แรงงานทักษะเพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานก็ได้นรับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายแต่ถ้ารัฐจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต กลุ่ม SMEs ก็พร้อมสนับสนุน แต่ควรมีระบบที่พร้อม
หลังจากดำเนินโครงการคนละครึ่ง ในช่วงหลังการระบาดของ โควิด-19 ช่วงเวลาเกือบ 2 ปี กระตุ้นเม็ดเงินให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 436,870 ล้านบาท ครอบคลุมประชาชนกว่า 26.38 ล้านคน
ขณะที่โคงการดิจิทัลวอลเล็ต มีคนลงทะเบียน 36 ล้านคน แต่เฟสแรกจะแจกเงินเหมื่นให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน น่าจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ GDP ขยายตัวได้เพิ่มเติมอีกประมาณร้อยละ 0.35 ในปลายปี 2567 แม้จะเป็นเงินสดกำหนดเป้าหมายไม่ได้ แต่รัฐบาล หวังว่า จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ให้คนกลุ่มเปราะบางให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น