กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ หลังจากได้มีผู้ใช้บัญชี TikTok ของนักเรียนกลุ่มหนึ่ง ที่คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงประถมศึกษา-มัธยมต้น ที่พากันไปนั่งในร้านหนังสือชื่อดัง มีการเอาอาหารเข้ามากินในร้าน นั่งตรงพื้นทางเดิน และมีน้องคนหนึ่งที่ยกเค้กมาเซอร์ไพร์สเพื่อน จนสร้างเสียงวิพากย์วิจารณ์ต่าง ๆ นานา ว่าการทำแบบนี้ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ตรงนั้นที่มีแต่กระดาษ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นมา มันไม่ใช่การแค่สูญเสียทรัพย์สิน แต่อาจจะหมายรวมถึงชีวิตคนอื่นรวมถึงตัวน้อง ๆ เองด้วย
นอกจากนี้ เรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นยังได้ลามไปที่ประเด็นที่ว่า ปกติในร้านหนังสือ มักจะมีเด็ก ๆ ที่เลิกเรียน ที่ต้องมารอผู้ปกครอง หรือเด็ก ๆ ที่มารอเพื่อน ใช้ร้านหนังสือเป็นสถานที่นัดพบ บางคนมาหยิบหนังสือในร้านเปิดทำการบ้าน บางคนมานั่งอ่านหนังสือฟรี ๆ จนคนในร้านจะเดินก็ลำบาก ต้องคอยหลบเลี่ยงเด็ก ๆ บางคนเลือกไม่ไปซื้อหนังสือในบางชั้น เพราะเห็นเด็ก ๆ นั่งรอกันอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บรรยากาศในร้านดูวุ่นวาย คนซื้อไม่ได้อ่าน คนอ่านไม่ได้ซื้อ แต่อย่างไรก็ตาม นั่นจึงทำให้เกิดการหยิบยกบทสัมภาษณ์ของคุณ เกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ และผู้บริหารซีเอ็ด ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum เมื่อ 5 ปีก่อน โดยที่ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ คุณเกษมสันต์ได้พูดถึงร้านหนังสือซีเอ็ดในสาขา จ.ปัตตานี ที่ต้องปิดไปเพราะร้านไม่มีคนเข้า ไม่มี Traffic และหมดสัญญากับทางเจ้าของพื้นที่ แต่ถ้าที่ไหนสู้เราก็พร้อมที่จะสู้ ที่ไหนมีที่ทางดี ๆ ก้บอกได้เลย ความฝันของตน คือ อยากจะเปิดร้านหนังสือที่เป็นแลนด์มาร์ก ให้คนมายืนถ่ายรูป อ่านหนังสือได้ฟรี ร้านซีเอ็ดเองตอนโรงเรียนเลิกก็มีเด็ก ๆ เข้าร้านเป็นจำนวนมาก เรามีชั้นวางกระเป๋าให้วาง ก็ไม่พอ ต้องไปวางตรงพื้น ที่ร้านมีแต่เด็ก ๆ นั่งอ่านหนังสือกันตรงพื้น ซึ่งเราก็ไม่ได้หวังว่า เด็กจะต้องมาซื้อหนังสือ ขอแค่มาอ่านเถอะ บางคนอีเมลมาบอกว่า รำคาญมากที่จะไปซื้อหนังสือก็ซื้อไม่ได้ มีแต่เด็กมานั่งเต็มพื้นที่ของร้าน ตนก็ได้แต่ขอโทษ เพราะปรัชญาของร้านคืออยากให้คนเข้ามาอ่านหนังสือ เราไม่มีเงินพอจะจัดสรรโต๊ะและเก้าอี้ให้ได้ อยากจะขอความเห็นใจว่า ถ้าจะมาซื้อหนังสือ ให้เลี่ยงมาในชั่วโมงนั้น ถ้าเด็กมาอ่านหนังสือแล้วมาไล่ คงจะใจร้ายไปหน่อย และขัดกับปรัชญาของเรา เราอยากเห็นเด็กอ่านหนังสือ ซื้อหรือไม่ก็เรื่องของเด็ก และต้องขอโทษผู้ใหญ่มา ณ ที่นี้ งานนี้ได้มีคนหยิบยกบทสัมภาษณ์นี้ไปแชร์ต่อกันจำนวนมาก หลายคนได้ร่วมเผยถึงประสบการณ์ ยกให้ร้านซีเอ็ดเป็นบ้านหลังที่สอง จริงอยู่ที่เข้าร้านแล้วไม่ซื้อ แต่ช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่นั้น แม้หนังสือในร้านจะแพง บางเล่มราคาหลายร้อย เด็กจ่ายไม่ไหว แต่การที่ซีเอ็ดเปิดพื้นที่ให้เด็กเข้าถึงหนังสือที่ซื้อไม่ได้ หรือเป็นเซฟโซนระหว่างที่เด็กรอผู้ปกครองมารับ ก็สร้างความทรงจำดี ๆ ให้เด็กหลายคนมานักต่อนัก และทำให้ซีเอ็ดกลายเป็นร้านหนังสือในใจเสมอ