นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความพร้อมของร้านค้าในการเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท คาดว่าจะเริ่มในไตรมาส 4 ของปีนี้ ส่วนประชาชนทั่วไปเริ่มลงทะเบียนเดือนสิงหาคม
ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการได้มีทั้งร้านธงฟ้า ร้านค้าหาบเร่แผงลอย ร้านค้าในตลาดนัด วิสาหกิจชุมชน ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก และร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยจะเริ่มเปิดลงทะเบียนในเดือนสิงหาคมนี้ เริ่มจากกลุ่มร้านค้า สมาคมค้าปลีก-ค้าส่ง ตามด้วยกลุ่มซัพพลายเออร์ และร้านค้าทั่วไป
นายภูมิธรรมย้ำว่าโครงการนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่เน้นที่ร้านค้าขนาดเล็กและรายย่อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
มีสินค้า 18 รายการที่ไม่สามารถซื้อด้วยเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้แก่
1. สลากกินแบ่งรัฐบาล
2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
4. กัญชา
5. กระท่อม
6. พืชกระท่อม
7. ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม
8. บัตรกำนัล
9. บัตรเงินสด
10. ทองคำ
11. เพชร
12. พลอย
13. อัญมณี
14. น้ำมันเชื้อเพลิง
15. ก๊าซธรรมชาติ
16. เครื่องใช้ไฟฟ้า
17. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
18. เครื่องมือสื่อสาร มือถือสมาร์ทโฟน
ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย
อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน
ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท นับยอดบัญชีเงินฝาก สิ้นสุด ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา ถอนเงินออกตอนนี้ไม่ทัน ยอดถูกนับรวมไปแล้ว
ใช้เงินดิจิทัลวอลเลตได้ที่ไหนบ้าง
ประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วได้รับสิทธิ สามารถใช้จ่ายเงินดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชั่น ภายในร้านค้าที่ร่วมโครงการในพื้นที่อำเภอที่ตรงเองมีทะเบียนบ้าน ไม่สามารถใช้ข้ามอำเภอได้
ต้องเริ่มใช้จ่ายครั้งแรกภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ได้สิทธิ์ มิเช่นนั้นจะถูกดึงเงินคืนกลับส่วนกลาง และเงิน 10,000 บาทนี้ ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ มีโทษตามกฎหมาย
ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวันไหน
เบื้องต้น รัฐบาลแบ่งกลุ่มผู้ใช้สิทธิเป็น 3 กลุ่ม มีกำหนดไทม์ไลน์วันลงทะเบียนไม่พร้อมกัน ดังนี้
1. กลุ่มผู้ใช้สมาร์ตโฟน
เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป โดยยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ มีระยะเวลาการเปิดลงทะเบียน 45 วัน
2. กลุ่มไม่มีสมาร์ตโฟน
เปิดลงทะเบียนในรอบถัดไป แต่ยังไม่มีการประกาศวันเวลาที่แน่ชัด รวมถึงสถานที่ลงทะเบียน ใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานยืนยันตัวตน
3. กลุ่มร้านค้า
เปิดลงทะเบียนภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะเปิดลงทะเบียนกลุ่มร้านค้า สมาคมค้าปลีก-ค้าส่ง ตามด้วยกลุ่มซัพพลายเออร์ และร้านค้าทั่วไป
แอปทางรัฐ Super App ยืนยันตัวตน ก่อนลงทะเบียน 1 สิงหาคมนี้
แอปทางรัฐเป็นแพลตฟอร์มกลางที่พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐ ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิ, จ่ายบิล, ติดตามสถานะการขอใช้บริการภาครัฐ และอื่นๆ ได้อย่างสะดวกในแอปพลิเคชันเดียว
จุดประสงค์หลักของการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ทางรัฐ” คือการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ, ลดต้นทุนระบบเศรษฐกิจ, พัฒนารัฐบาลดิจิทัล ล่าสุดนำมาใช้กับการยืนยันตัวตนผู้ได้สิทธิใช้เงินดิจิทัลด้วย
ช่องทางยืนยันตัวตนแอปทางรัฐ
การยืนยันตัวตนในแอปทางรัฐสามารถทำได้หลายช่องทาง เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงบริการของภาครัฐสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม
1. ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA
หากคุณเคยลงทะเบียนใช้งานแอป D.DOPA มาก่อน สามารถใช้บัญชีนี้ยืนยันตัวตนบนแอปทางรัฐได้ทันที
2. ยืนยันตัวตนที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-Eleven
เพียงแสดง QR Code ที่สร้างจากแอปทางรัฐให้พนักงานสแกน ก็สามารถยืนยันตัวตนได้ง่ายๆ ที่ 7-Eleven ทุกสาขา
3. ยืนยันตัวตนผ่านตู้อเนกประสงค์ภาครัฐ ตามจุดให้บริการต่างๆ
4. ยืนยันตัวตนผ่านไปรษณีย์ไทย
ทำได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา โดยแสดง QR Code ที่สร้างจากแอปทางรัฐให้เจ้าหน้าที่
5. ยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติมทั่วประเทศ
ขั้นตอนการยืนยันตัวตน
ดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” บนสมาร์ทโฟนของคุณ
เปิดแอปพลิเคชันและลงทะเบียนเข้าใช้งาน
เลือกเมนู “ยืนยันตัวตน” และเลือกช่องทางที่ต้องการ
ทำตามขั้นตอนที่ระบุในแต่ละช่องทาง
หลังจากยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว คุณจะสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ บนแอปทางรัฐได้อย่างเต็มรูปแบบ