‘หมอคางดำ’เปลี่ยนชีวิต จากเจ้าของบ่อกุ้ง20ไร่ เจอระบาดกินลูกกุ้งหมดบ่อ ขาดทุนยับเยิน ต้องเก็บขวดขายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยสนใจเข้ามาก็ขอไปทีพูดไปวันๆ ไม่ได้จริงจังอะไร ไม่มีใครมาช่วยได้ต้องช่วยตนเอง หมดหวังกับเจ้าหน้าที่รัฐ การเมืองก็ช่วยไม่ได้ ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นายวิสูตร นวมศิริ ประธานกลุ่มอนุรักษ์พัฒนาป่าเลน ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า เมื่อปี 2562 ปลาหมอคางดำได้แพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่ ต.บางแก้ว และเพิ่มขึ้นเร็วมาก ขณะที่ปลาพื้นถิ่นได้หายไปหลายชนิด เช่น ปลาโหรี ปลากุเลา ฯลฯ แต่ปลาหมอคางดำเต็มคลองสาธารณะ แรกๆ ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าปลาอะไรมาจากไหน จึงจับมาทำกินพบว่า ปลาผอม เนื้อน้อย และแข็งเหนียวก้างเยอะ ไม่อร่อย จึงไม่นิยมนำมาทำกินเป็นอาหาร นายวิสูตร กล่าวว่า ต่อมาพบว่าปลาหมอคางดำเริ่มตัวใหญ่ขึ้น มีเนื้ออ้วนน่ากินขึ้น ตนและคนรุ่นใหม่จึงลองนำมาทำกิน ยอมรับว่าพอกินได้ แต่คนรุ่นเก่าที่เคยกินปลาหมอเทศ หรือปลาท้องถิ่นที่อร่อยมาแล้วก็จะบอกว่าปลาหมอคางดำรสชาติสู้ไม่ได้ แต่อนาคตตนคิดว่าปลาหมอคางดำเมื่ออยู่ในประเทศไทยนานๆ อาจจะกลายพันธุ์หรือมีการพัฒนาสายพันธุ์ก็ได้ สังเกตตอนที่ระบาดใหม่ ๆ ชาวบ้านจับปลาหมอคางดำมาทำกิน ต่างส่ายหน้าบอกความรู้สึกว่าไม่อร่อย แต่ตอนนี้คนส่วนหนึ่งในหมู่ 10 ต.บางแก้ว รู้สึกว่าปลาหมอคางดำตัวใหญ่ๆ เนื้อเยอะขึ้น เนื้อซุยฟูขึ้น อีกทั้งขนาดตัวก็ใหญ่ขึ้นกว่าที่พบแรกๆ ตนคิดว่าปลาน่าจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ตัวเองให้เข้ากับพื้นถิ่น อีกอย่างน้ำที่อยู่อาศัยและอาหารประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้ไซส์ใหญ่ เนื้อเยอะ แต่อาจจะอร่อยไม่เหมือนปลาหมอเทศที่เราเคยคุ้นลิ้น โดยเฉพาะถ้าเอาไปทอดกรอบ ทำปลาแดดเดียว แกงฉู่ฉี่ หรือต้มยำ ดังนั้นเมื่อปลาหมอคางดำเต็มแหล่งน้ำ เราก็พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จับขึ้นมาทำกินซะเลย ทั้งหาง่ายและราคาถูก การทำปลาแดดเดียวตอนนี้ก็พอขายได้ กิโลกรัมละ 30 บาท มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อไปขายต่อถึงบ้าน นายวิสูตร กล่าวอีกว่า การจะผลักดันให้การกำจัดปลาหมอคางดำเป็น “วาระแห่งชาติ” ตนเสนอให้ จ.สมุทรสงคราม ประกาศเป็น “วาระจังหวัด” ก่อน โดยให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศเป็นคำสั่งจังหวัดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ ให้ตั้งงบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้จ่ายในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพราะทุกแห่งมีจิตอาสา มีผู้นำท้องถิ่นท้องที่ มีผู้นำชุมชน มาช่วยกันลงแขกลงคลองกำจัดปลาหมอคางดำ ที่จับได้ตัวใหญ่ๆ ก็แบ่งกันไปทำกิน ที่เหลือเอาไปส่งเสริมการแปรรูปขาย โดยเฉพาะปลาตัวเล็ก ๆ เอาไปส่งโรงงานทำปลาป่น อาหารสัตว์ และทำปลาร้า ยังได้เงินกลับคืนมาบ้าง ด้าน นายสุนทร รอดบุญชัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม แหล่งระบาดประหมอคางดำแห่งแรกในประเทศ กล่าวว่า กว่า 10 ปีแล้ว ที่ตนประสบปัญหาปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่กินกุ้งในบ่อเลี้ยงบนเนื้อที่กว่า 70 ไร่ ได้รับความเสียหายครั้งแล้วครั้งเล่า กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมด ทำให้เดือดร้อนมาก “ล่าสุดซื้อลูกกุ้งมาปล่อย 3-4 แสนตัว ผ่านไป 6 เดือน เปิดบ่อลมแทบจับ ไม่มีกุ้งเลย มีแต่ปลาหมอคางดำ ขายได้กิโลกรัมละ 5 บาท ตอนนี้คนที่มีศักยภาพ ต้องช่วยตัวเองซื้อปลากะพงขนาด 3 นิ้ว มาปล่อยในบ่อเลี้ยงกุ้ง บ่อละ 2,000-2,500 ตัว เพื่อให้กินลูกปลาหมอคางดำ ก็พอจะมีกุ้งให้จับบ้าง ส่วนปลากะพงก็จับขายพร้อมกัน เพราะต้องพักบ่อก่อนเลี้ยงรอบใหม่” นายสุนทร กล่าว อย่างไรก็ตาม ความหนาแน่นของปลาหมอคางดำในบ่อปิดที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงกุ้ง ช่วงที่กรมประมงแจกปลากะพงมาปล่อยเมื่อ 3-4 ปีก่อนก็เบาบางลง แต่หลังจากนั้น ปลาหมอคางดำก็เพิ่มขึ้นอีก ลองทอดแหครั้งเดียวในพื้นที่เลี้ยงกุ้ง 70 ไร่ ได้ปลาหมอคางดำเกือบ 3 กิโลกรัม มาทำต้มยำ ทอดสดจิ้มน้ำปลาพริกมะนาว และปลาแดดเดียวทอด เลี้ยงคณะ นายคันฉัตร ตันเสถียร ผวจ.สมุทรสงคราม ขณะนั้น ที่ลงไปติดตามการระบาดของปลาหมอคางดำ “การจะกำจัดให้หมดคงยาก เพราะปลาไม่ใช่เป็ดไก่ที่จะไล่จับได้เพราะเห็นตัว แต่ปลาอยู่ในน้ำ อีกทั้งสภาพคลองบางแห่งก็ไม่เอื้อต่อเครื่องมือที่นำมาจับ ผมเห็นด้วยที่จะผลักดันให้การกำจัดปลาหมอคางดำ เป็นทั้งวาระจังหวัดและวาระแห่งชาติ ทำพร้อมกันทุกพื้นที่ เชื่อว่าการระบาดจะลดน้อยลงหรือหมดไป แต่หากปล่อยไว้อย่างนี้ อีกไม่นานก็คงระบาดไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างแน่นอน” นายสุนทร กล่าว นายสุนทร กล่าว ขณะที่ ปลาหมอคามดำระบาดในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามเมื่อเกือบ 20 ปี ก่อน ทำให้ชาวสมุทรสงครามได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ในจำนวนนี้บางรายต้องหันมาขุดหน้าดินไปขายหารายได้จุนเจือครอบครัว ขณะที่นายรื่น อมศิริ อดีตเจ้าของบ่อเลี้ยงกุ้งในวัย 77 ปี ชาว ต.แพรกหนามแดง ที่อดีตเคยเลี้ยงกุ้ง ถึงขนาดต้องถอดใจเลิกเลี้ยงกุ้งที่ยึดเป็นอาชีพมากว่า 50 ปี และหันมาเก็บขวดขายเพื่อประทังชีวิต โดยทุกเช้านายรื่นจะเดินเก็บขยะตามริมถนน และกองขยะจากระแวกใกล้เคียง เพื่อนำมาคัดแยกรอขายหารายได้มากินใช้ นายรื่น กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนทำบ่อเลี้ยงกุ้งกว่า 20 ไร่ ก็มีรายได้ดีมาดูแลครอบครัว แรกๆมีปัญหาน้ำเสียบ้างบางช่วง ก็ยังพอมีช่วงเวลาที่จับกุ้งจับปลา สร้างรายได้ แต่มาระยะหลังปลาหมอคางดำเริ่มระบาดหนัก วิดบ่อทีไรได้แต่ปลาหมอคางดำ นับวันๆเงินทุนก็จมลงไปเรื่อยๆ สู้อยู่หลายปีสุดท้ายก็ยอมถอดใจเลิกเลี้ยงแบบหมดตัว หวังเก็บหอมรอมริมไว้บั้นปลายชีวิตก็ล้มเหลว ต้องมาเก็บขวดขายประทังชีวิต ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยสนใจเข้ามาก็ขอไปทีพูดไปวันๆ ไม่ได้จริงจังอะไร ไม่มีใครมาช่วยได้ต้องช่วยตนเอง หมดหวังกับเจ้าหน้าที่รัฐ การเมืองก็ช่วยไม่ได้ ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย