สิทธิประโยชน์ประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 รับบำนาญชราภาพ-บำเหน็จชราภาพ เมื่อเกษียณ หรืออายุ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้บำเหน็จหรือบำนาญ และคำนวณอย่างไร
ตามที่ได้มีการนำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในระบบประกันสังคมจะได้รับการดูแลด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากสำนักงานประกันสังคม รวมถึงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ-บำนาญชราภาพ โดยมีเงื่อนไขการเกิดสิทธิ เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และได้ลาออกจากงาน สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนหรือเสียชีวิตนั้น
อาจยังมีหลายคำถามที่สงสัยต่อเนื่องว่า จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ หรือเงินบำนาญชราภาพ และจะคำนวณอย่างไรว่า จะได้รับเงินเท่าไร
“ประชาชาติธุรกิจ” ไขข้อสงสัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้
ผู้ประกันตน ม.33-ม.39 ส่งเงินสมทบเท่าไร ?
การส่งเงินสมทบประกันสังคม ม.33 และ ม.39 มีรายละเอียดดังนี้
ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) หรือมนุษย์เงินเดือน ต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน โดยถูกหักจากเงินเดือนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ (สูงสุดหักไม่เกิน 750 บาท) นอกจากนั้น นายจ้างต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันด้วย
เงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายแต่ละเดือนเข้ากองทุนของประกันสังคม จะถูกแบ่งการบริหาร 3 ส่วน จากเพดาน 750 บาท/คน/เดือน
1. จำนวน 225 บาท สมทบกองทุนดูแลเรื่องเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ถึงแม้ไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน
2. จำนวน 75 บาท สำหรับใช้ประกันการว่างงาน ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ สามารถเอาเงินส่วนนี้มาใช้ในระหว่างตกงานหรือรอหางานใหม่ ถึงแม้ไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน
3. จำนวน 450 บาท เก็บเป็นเงินออมกรณีชราภาพ จะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39) หรือบุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ เจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต
ได้บำเหน็จชราภาพ หรือบำนาญชราภาพ วัดจากอะไร ?
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ ขึ้นอยู่กับระยะการส่งเงินสมทบประกันสังคม
ส่งเงินสมทบต่ำกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ จ่ายเป็นก้อนครั้งเดียว
ส่งเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต
และมีเงื่อนไขสำคัญ คือ
ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
ทั้งนี้ การยื่นรับสิทธิกรณีชราภาพผู้ประกันตน ม.33 ใช้ฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนผู้ประกันตน ม.39 ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท
เงินบำเหน็จชราภาพ มีเงื่อนไข-คำนวณอย่างไร ?
หากส่งเงินสมทบประกันสังคมน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ โดยมี 2 เงื่อนไข
กรณีส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน (ต่ำกว่า 1 ปี) : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
กรณีส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน (1 ปี-14 ปี 11 เดือน) : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะมีการประกาศอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ในราชกิจจานุเบกษา โดยอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพล่าสุด อยู่ที่ 2.53% ต่อปีของเงินสมทบสุทธิ (ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567)
วิธีคำนวณ
กรณีส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน : เงินสมทบของผู้ประกันตน x จำนวนเดือน (1-11 เดือน) = จำนวนเงินบำเหน็จชราภาพ
ตัวอย่าง : ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบได้ 9 เดือน เดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ 300 x 9 = 2,700 บาท
กรณีส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน (1 ปี-14 ปี 11 เดือน) : เงินสมทบของผู้ประกันตน + เงินสมทบของนายจ้าง + ผลประโยชน์ตอบแทน = จำนวนเงินบำเหน็จชราภาพ
ทั้งนี้ “ผลประโยชน์ตอบแทน” เงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 คือ เงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ประกันตนจากการที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินสมทบไปลงทุน โดยแต่ละปีจะมีอัตราที่แตกต่างกัน ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยอัตราผลประโยชน์ตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี มีดังนี้
ตัวอย่างวิธีคำนวณเงินบำเหน็จชราภาพ-ผลประโยชน์ตอบแทน
ตัวอย่าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 อายุ 55 ปี ส่งเงินสมทบตั้งแต่ปี 2562 และสิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้างวันที่ 30 กันยายน 2566 คำนวณจากฐานตัวเลขเดือนละ 15,000 บาท ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566
จากนั้นนำเงินสมทบสะสมในแต่ละปี คำนวณกับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนในแต่ละปี ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
หมายเหตุ : 9/12 หมายถึง ผู้ประกันตนนําส่งเงินสมทบมาแค่ 9 เดือน ภายใน 1 ปี
สรุป : ผู้ประกันตนมาตรา 33 เกษียณอายุที่ 55 ปี ทำงานมา 57 เดือน จะได้รับเงิน
เงินบำนาญชราภาพ มีเงื่อนไข-คำนวณอย่างไร ?
หากส่งเงินสมทบประกันสังคม มากกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี
กรณีส่งเงินสมทบมาแล้ว 180 เดือน (15 ปี) มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
กรณีส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) ได้รับอัตราบำนาญชราภาพ เพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการส่งเงินสมทบทุก 12 เดือน (1 ปี)
ตัวอย่างวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ
สำหรับการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ กรณีส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะคำนวณดังนี้
ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) X 20% = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นรายเดือนตลอดชีวิต
ตัวอย่าง : ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายได้ 14,000 บาท คูณ 20% = 14,000 x 20% = เงินบำนาญชราภาพ เดือนละ 2,800 บาท ตลอดชีวิต
ส่วนการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ กรณีส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) จะคำนวณดังนี้
ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) X [20%+(1.5% x จำนวนปีที่ส่งเงินสมทบ กรณีเกิน 15 ปี)] = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต
ตัวอย่าง : ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายได้ 15,000 บาท ส่งเงินสมทบแล้ว 384 เดือน (32 ปี) อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
คำนวณได้ดังนี้ (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) X [20%+(1.5% x จำนวนปีที่ส่งเงินสมทบ กรณีเกิน 15 ปี)] = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นรายเดือนตลอดชีวิต
= 15,000 x 45.5% = เงินบำนาญชราภาพ เดือนละ 6,825 บาทตลอดชีวิต
หมายเหตุ : 45.5% มาจากอัตราเงินบำนาญชราภาพ 20% สำหรับ 15 ปีแรก + อัตราเงินบำนาญชราภาพ 17 ปีหลัง เพิ่มขึ้นปีละ 1.5% เท่ากับ 25.5%
ได้เงินชราภาพประกันสังคมเมื่อไหร่ ?
เงินบำเหน็จหรือบำนาญในระบบประกันสังคม โดยผู้ที่ได้รับแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา (ม.33, ม.39, ม.40)
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน
กลุ่มที่ 2 ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิต
ลูก หรือลูกบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย
สามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
บิดา-มารดาที่มีชีวิตอยู่
กรณีเสียชีวิต
กรณีผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพ ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน (5 ปี) นับแต่เดือนที่รับบำนาญชราภาพ
ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน
กรณีผู้ประกันตนถูกงดจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน และต่อมาถึงแก่ความตาย
หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน
ยื่นขอรับบำเหน็จ-บำนาญชราภาพอย่างไร
เมื่อตรวจสอบและทราบสิทธิที่จะได้รับแล้วสามารถยื่นขอรับบำเหน็จ หรือบำเหน็จชราภาพ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ใกล้บ้าน หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา โดยใช้เอกสาร ดังนี้
บัตรประชาชนตัวจริง
กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส.2-01)
สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ที่จะรับโอนเงิน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หน้าแรก ที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ
หากผู้ประกันตนมีบัญชีพร้อมเพย์ที่ใช้เลขบัตรประชาชนผูกกับบัญชีออมทรัพย์ สามารถแจ้งขอรับเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ไปพร้อมการยื่นคำร้องได้ โดยไม่ต้องใช้สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร (บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ ไม่สามารถใช้ได้)
โดยธนาคารที่สามารถใช้เพื่อรับเงินบำเหน็จชราภาพ บำนาญชราภาพ มีดังนี้
พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขประจำตัวประชาชนทุกธนาคาร
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารออมสิน
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ขอรับเงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ ได้เงินเมื่อไร ?
สำหรับระยะเวลาการโอนเงินเข้าบัญชี เมื่อสำนักงานประกันสังคมอนุมัติสิทธิ จะโอนเงินเข้าบัญชีภายในเวลาที่กำหนด ดังนี้
กรณีบำเหน็จชราภาพ หากได้รับการอนุมัติแล้วเงินจะโอนเข้าบัญชีประมาณ 5-7 วันทำการ ไม่นับรวมวันหยุดราชการ (ไม่รวมระยะเวลาการยื่นเอกสารกับเจ้าหน้าที่)
กรณีบำนาญชราภาพ จ่ายเงินเดือนที่ได้รับสิทธิให้กับผู้รับบำนาญชราภาพภายในวันที่ 25 ของเดือนที่ได้รับสิทธิ