ลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม 2567 ทำอย่างไร เช็กขั้นตอนง่ายๆ ที่นี่

“ลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม” สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยที่อยู่ในระบบแรงงานที่จ่ายสมทบเงินประกันมาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนว่างงาน โดยปัจจุบันทางกระทรวงแรงงานได้เปิดให้ลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ 2567 แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สามารถเช็กเงื่อนไขและขั้นตอนได้ในบทความนี้

เงื่อนไขผู้ประกันตนที่สามารถลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม
เงื่อนไขผู้ประกันตนที่สามารถลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม 2567 มีดังนี้

เป็นผู้ประกันตน ม.33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน ไม่ว่าจะลาออกเอง เลิกจ้าง หรือว่างงานจากเหตุสุดวิสัย
ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
รายงานตัวออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน เดือนละ 1 ครั้ง
ขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน
ไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
ไม่ถูกเลิกจ้างในกรณี ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง, จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย, ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน, ขาดงาน 7 วันติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร, ประมาทจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง หรือได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
มีความพร้อมและสามารถทำงานที่จัดหาให้ได้ และไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

วิธีลงทะเบียนว่างงาน 2567 ทำอย่างไรได้บ้าง
วิธีการลงทะเบียนว่างงานสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง ผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมออนไลน์ มาตรา 33

1. เข้าเว็บไซต์กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
2. เลือก “เข้าสู่ระบบสำหรับบุคคลทั่วไป” หรือลงทะเบียนเฉพาะผู้ใช้งานใหม่ตามขั้นตอน
3. กดยินยอมการให้ใช้ข้อมูลให้เรียบร้อย
4. กด “ขึ้นทะเบียนรายงานตัวผู้ประกันตน กรณีว่างงาน” และกด “ดำเนินการต่อ”
5. กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบถ้วน
6. กดเลือกเมนู “ขึ้นทะเบียนว่างงาน” ปุ่มสีฟ้า
7. กรอกข้อมูลและรายละเอียด ได้แก่

ข้อมูลส่วนบุคคล
วุฒิการศึกษา
สถานะการออกจากงาน : ลาออกหรือเลิกจ้าง
ต้องการหางานทำ : ค้นหาตำแหน่งงานว่างหรือเลือกสมัครงาน
ประกอบอาชีพอิสระ : ระบุประเภทอาชีพ
8. กรอกข้อมูลแบบ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
9. แนบไฟล์สำเนาบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ ระบุชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน
10. กดบันทึกเป็นอันเรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 2 การรายงานตัว

1. เข้าเว็บไซต์กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
2. เลือก “เข้าสู่ระบบสำหรับบุคคลทั่วไป”
3. กด “ขึ้นทะเบียนรายงานตัวผู้ประกันตน กรณีว่างงาน” และกด “ดำเนินการต่อ”
4. กดเลือกเมนู “รายงานตัว” ปุ่มสีฟ้า และกดปุ่มรายงานตัวในช่องปฏิบัติการอีกครั้ง
5. กรอกข้อมูลและรายละเอียด ได้แก่

กรณีมีงานทำแล้ว : กรอกวัน เดือน ปีที่เริ่มงาน ตำแหน่งงาน อัตราค่าจ้าง และชื่อสถานประกอบการ
กรณียังไม่มีงานทำ : ค้นหาตำแหน่งงานว่าง และเลือกสมัครงาน
กดบันทึก ระบบจะแสดงการรายงานตัวเรียบร้อย
หลังจากกดลงทะเบียนและรายงานตัวแล้ว สามารถตรวจสอบสถานะ การรับผลประโยชน์ทดแทนได้ผ่านเว็บไซต์เช่นเดิม

ลงทะเบียนว่างงานใช้เอกสารอะไรบ้าง
การลงทะเบียนว่างงานออนไลน์ใช้เอกสาร หากเป็นช่องทางออนไลน์ใช้เอกสาร ดังนี้

แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
ไฟล์สำเนาบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ ระบุชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน
อย่างไรก็ตาม หากใครที่ขึ้นทะเบียนว่างงานออนไลน์ที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้านให้เตรียมเอกสาร ดังนี้

แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม กรณีว่างงาน (สปส.2-01/7)
บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส.6-09) แต่กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้เช่นกัน
หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
สำเนาบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ ระบุชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน
ลงทะเบียนว่างงานกี่วันได้เงิน
การลงทะเบียนว่างงานและรายงานตัว จะได้รับเงินภายใน 7-14 วันทำการ ผ่านการพิจารณาอนุมัติของสำนักงานประกันสังคม โดยสามารถสอบถามผ่านช่องทาง ดังนี้

สายด่วนประกันสังคม 1506 กด 1
ติดต่อสำนักงานประกันสังคมสาขาใกล้บ้าน
ติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect
เว็บไซต์ทางการสำนักงานประกันสังคม

ลงทะเบียนว่างงาน ได้เงินเท่าไร
ตามเงื่อนไขประกันสังคม ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน ดังนี้

หากถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 180 วัน/ปี
ยกตัวอย่างเช่น หากค่าจ้าง 15,000 บาท (จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน) จะได้รับเงินทดแทนวันละ = (15,000 x 0.50 x 180) / 30 = 250 บาทต่อวัน ไม่เกิน 180 วัน หรือในรอบนั้นๆ จะได้รับเงินตั้งแต่ 250-45,000 บาท

หากสิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือลาออกเอง ได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้างรายวัน ครั้งละไม่เกิน 90 วัน/ปี
ทั้งนี้ การคำนวณเงินจะคิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น หากค่าจ้าง 15,000 บาท (จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน) จะได้รับเงินทดแทนวันละ = (15,000 x 0.30 x 90) / 30 = 150 บาทต่อวัน ไม่เกิน 90 วัน หรือในรอบนั้นๆ จะได้รับเงินตั้งแต่ 150-13,500 บาท

การลงทะเบียนว่างงานประกันสังคมเป็นสิทธิพื้นฐานที่คนไทยในระบบแรงงานไม่ควรมองข้าม เพียงทำตามขั้นตอนง่ายๆ ในข้างต้นก็จะสามารถรับเงินทดแทนในช่วงที่ว่างได้ ทั้งนี้ หากใครที่มีปัญหาหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน สายด่วน 1506 กด 1 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.

ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

ข่าวล่าสุด

ข่าวล่าสุด

Scroll to Top